การขอรับรองเอกสาร

การขอรับรองเอกสาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 พ.ย. 2566

| 277 view

ข้อมูลทั่วไป

การนำเอกสารจากชิลี ปานามา คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ไปใช้ในประเทศไทย (เช่น การนำทะเบียนสมรส/ทะเบียนหย่าไปแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัว/เปลี่ยนนามสกุลตามสามีหลังการสมรส หรือกลับไปใช้นามสกุลเดิมหลังการหย่า ที่เขต/อำเภอในประเทศไทย) จะต้องผ่านการรับรองเอกสารตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลที่มีไว้เพื่อประกันว่า เอกสารที่ออกให้โดยประเทศหนึ่งมีความถูกต้องแท้จริง และสามารถใช้เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ตามกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง

  • โดยทั่วไป เอกสารที่จะนำไปใช้ที่ไทยได้ตามกฎหมาย จะต้องผ่านการรับรองโดยหน่วยงานเป็นทอด ๆ ไป ตามลำดับ ดังนี้ 
    • หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ 
      • 1. หน่วยงานชั้นต้นที่ออกหนังสือ/เอกสาร
      • 2. กระทรวงการต่างประเทศชิลี ปานามา คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ (จะรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่หน่วยงานชั้นต้น)
      • 3. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโก (จะรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ในข้อ 2)
    • หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
      • 4. กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของไทยที่กรุงเทพฯ (จะรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ) หรือสถานที่ให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสารอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานสัญชาติและนิติกรณ์ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT คลองเตย / สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงใหม่ / สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุบลราชธานี / สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สงขลา 
      • เมื่อมีตราประทับรับรองจากกรมการกงสุลแล้ว จึงจะสามารถนำเอกสารนั้นไปใช้ที่เขต/อำเภอ หรือหน่วยงานอื่นในประเทศไทยได้

สำหรับเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการไทย และต้องการนำมาใช้ที่ชิลี ปานามา คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ เช่น สูติบัตร ใบรับรองความประพฤติ จะต้องนำไปผ่านการรับรองที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศที่ประเทศไทยก่อน (ดูรายละเอียดที่นี่) จากนั้นต้องจัดทำคำแปลเป็นภาษาสเปน และนำมารับรองที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก 

 

ขั้นตอนการรับรองเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูตฯ 

1. การรับรองสำเนาเอกสารราชการไทย

เอกสารประกอบ

  1. แบบฟอร์มคำร้องขอใช้บริการงานนิติกรณ์
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทยที่มีอายุใช้งาน จำนวน 1 ชุด
  3. เอกสารตัวจริงที่จะทำการรับรองพร้อมสำเนา จำนวน 1 ชุด
  4. ค่าธรรมเนียม 15 ดอลลาร์ / ต่อ 1 ตราประทับ

 

2. การรับรองการแปลเอกสาร (จากภาษาไทยเป็นภาษาสเปน)

เอกสารประกอบ

  1. แบบฟอร์มคำร้องขอใช้บริการงานนิติกรณ์
  2. เอกสารภาษาไทยฉบับจริงที่นำไปแปล (ใช้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการแปล จะส่งคืนพร้อมเอกสารแปลที่นำมารับรอง)
  3. ในกรณีที่เอกสารภาษาไทยเป็นฉบับสำเนา หรือเป็นหนังสือรับรองที่ออกจากหน่วยงานราชการ ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขตที่ประเทศไทย จะต้องนำเอกสารดังกล่าวไปขอรับรองจากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศที่ประเทศไทยก่อน แล้วจึงจะนำมาขอรับรองเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูตฯ 
  4. เอกสารที่แปลเป็นภาษาสเปนที่จะทำการรับรองการแปล
  5. สำเนาหนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งาน จำนวน 1 ชุด
  6. ค่าธรรมเนียม 30 ดอลลาร์ (เงินสด) / ต่อ 1 ชุด (เนื่องจากจะมี 2 ตราประทับ ซึ่งได้แก่ 1. ตราประทับบนเอกสารคำแปลภาษาสเปน 2. ตราประทับบนสำเนาเอกสารภาษาไทย)

โปรดนัดหมายล่วงหน้าทางอีเมล์ [email protected] ก่อนเดินทางมาสถานเอกอัครราชทูตฯ